ประติมากรรมที่ว่าคืออะไร?
ประติมากรรมภายในถ้ำ เกิดขึ้นจากการกระทำของธรรมชาติ โดยการเกิดที่แตกต่างกัน ทำให้มีลักษณะที่แตกต่างกัน จึงมีชื่อเรียกแตกต่างกัน ประติมากรรมภายในถ้ำ หรือที่เรียกว่า หินประดับถ้ำ คือ มวลวัตถุเกิดจากการตกผลึกของแร่ทุติยภูมิในถ้ำ และแร่ทุติยภูมินี้เกิดจากปฏิกิริยาเคมี โดยมีถ้ำ เป็นตัวทำละลายจากแร่ที่เป็นองค์ประกอบหลักของหินที่เกิดถ้ำ ด้วยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
ส่วนใหญ่ประกอบด้วยแร่แคลไซต์หลายผลึกที่เกิดรวมกันเป็นรูปร่างต่าง ๆ ส่วนหินที่มีถ้ำ อยู่ส่วนมากเป็นหินปูน หากกล่าวถึงหินประดับถ้ำ จะเป็นการกล่าวถึงลักษณะของแร่และรูปแบบของแร่หรือแร่เป็นกลุ่มตกผลึกเป็นรูปร่างต่าง ๆ (สวยงาม) แต่ถ้ากล่าวถึงแร่ทุติยภูมิอย่างเดียวที่พบในถ้ำ จะเรียกว่า แร่ถถ้ำ หรือ cave mineral (ที่มา: คู่มือผู้เล่าเรื่องธรณีเรื่องถ้ำ เลสเตโกดอน ฉบับหินประดับถ้ำ)
หินย้อย (Stalactite)
คือ ตะกอนหินปูนที่จับตัวเป็นแท่งหรือแผ่น ย้อยลงมาจากเพดานเกิดจากน้ำใต้ดินที่มีหินปูนละลายอยู่หยดลงมาจากรอยแตกบนเพดานถ้ำและเมื่อน้ำสูญเสียก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปก็จะทำให้เกิดแร่แคลไซต์เริ่มสะสมตัวทีละน้อย และจะพอกยาวลงมาจากเพดานเรื่อยๆ โดยปกติมักจะมีลักษณะเป็นหลอดกลวงอยู่ตรงกลาง
หินงอก (Stalagmite)
คือ ตะกอนหินปูนที่จับตัวเป็นแท่งสูง ขึ้นไปจากพื้นถ้ำขึ้นไปหาเพดานถ้ำเกิดเนื่องจาก หยดน้ำที่ไหลออกมาจากหินย้อยหล่นถึงพื้นถ้ำน้ำก็จะเกิดการสูญเสียก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จึงทำให้แร่แคลไซต์สะสมตัว และค่อยๆ สูงขึ้นจากพื้นถ้ำ
หลอดหินย้อย (Soda Straw)
คือ สารหินปูนที่จับตัวเป็นหลอดหรือท่อย้อยลงมาจากเพดานถ้ำแร่แคลไซต์ที่เกิดจะมีการเรียงตัวของผลึกในแนวยาวและย้อยลงมา ทำให้มีความยาวเพิ่มขึ้น ทำให้ดูคล้ายหลอดกลวงที่มีน้ำหยดออกมาสวยๆ อย่างนี้ ไม่ควรจับนะที่ไม่ควรจับเพราะ แค่เพียงเราสัมผัส ความมันบนมือเราก็จะทำให้ หินงอก หินย้อย หลอดกาแฟ และอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในถ้ำเสียหาย และไม่งอกหรือย้อยใหม่อีกเลย หรือที่เรียกกันว่า หินตายแล้ว เมื่อมีการจับหรือสัมผัสมาก ๆ ถ้ำที่สวยงามก็จะกลายเป็นถ้ำตายในที่สุด
เสาหิน (Column)
คือ ลักษณะของหินที่เป็นแท่งหรือเสายาวจากพื้นถ้ำจรดเพดานถ้ำเกิดจากหินงอก หินย้อยมาบรรจบกัน
ม่านหินย้อย (Curtain)
เกิดจากน้ำที่มีสารคาร์บอเนตสูง ที่ไหลตามผนังที่เอียง ซึ่งจะเกิดจากแรงตึงผิวของน้ำเมื่อน้ำเกิดสูญเสียก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จึงทำให้เกิดการตกตะกอนของแร่แคลไซต์มีลักษณะเป็นแผ่นบาง ๆ ย้อยลงมาจากผนังถ้ำดูคล้ายม่าน บางแห่งจะมีสีน้ำตาลแดงสลับกับขาวหรือเหลืองอ่อน ชื่อเรียกเฉพาะว่า ม่านเบคอน (Bacon Formation) หรือบางแห่งมีลักษณะกลมรีคล้ายลูกชิ้นรักบี้ก็ได้
ม่านหินย้อย เป็นหินประดับถ้ำที่พบได้ทั่วไป มักพบบริเวณส่วนปลายของหินน้ำไหล
หินน้ำไหล (Flowstone)
คือ ตะกอนที่เกิดจากน้ำที่มีสารคาร์บอเนตไหลเป็นแผ่นบาง ๆ บนพื้นผิวของพื้นถ้ำซึ่งมักจะประกอบไปด้วยแร่ทราเวอร์ทีน (Travertine) ซึ่งเป็นอีกรูปหนึ่งของแร่แคลไซต์
ไข่มุกถ้ำ(Cave Pearl)
คือ ตะกอนที่มีลักษณะกลม หรือค่อนข้างกลม มีผิวภายนอกเรียบคล้ายไข่มุก มักเกิดบริเวณพื้นถ้ำที่เป็นแอ่งตื้นที่เกิดจากน้ำหยด
การเกิดนั้นจะต้องมีแกนกลาง (nucleus) ซึ่งอาจเป็นเม็ดทรายหรือเศษหินเล็ก ๆ แล้วเกิดการพอกของแร่แคลไซต์เป็นชั้น ๆ โดยรอบ (concentric layers) ที่เคยพบมีขนาดตั้งแต่หัวเข็มหมุดถึงขนาดใหญ่ประมาณ 15 เซนติเมตร บางแห่งมีรูปร่างคล้ายน้อยหน่า
ทำนบหินปูน (Rimstone)
คือตะกอนปูนที่ก่อตัวขึ้นแล้วมีลักษณะคล้ายเขื่อน หรือทำนบ หรือขั้นบันไดที่กั้นน้ำไว้ เกิดในบริเวณพื้นถ้ำหรือตามแนวทางน้ำไหล เมื่อน้ำไหลจะทิ้งตะกอนหินปูนเพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ
ปะการัง (Coral)
คือ แร่แคลไซต์ที่มีลักษณะคล้ายปะการัง ส่วนใหญ่จะพบบริเวณถ้ำที่มีความชื้น
ป๊อปคอร์น (Popcorn)
คือ แร่แคลไซต์ที่มีลักษณะคล้ายป๊อปคอร์นหรือข้าวโพดคั่ว ส่วนใหญ่จะพบบริเวณผนังถ้ำที่มีความแห้งเกิดจากในช่วงเวลาที่แร่แคลไซต์เริ่มมีการตกผลึก ก็มีการดันตัวของก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ออกมาด้วย ทำให้เราพบ ลักษณะการตกผลึกของแร่แคลไซต์พอง ๆ คล้ายกับขนมป๊อปคอร์นที่เรากินกัน ถ้ายังนึกไม่ออกว่าเป็นยังไง ลองนึกถึงว่า ลูกโป่งเป็นแร่แคลไซต์ที่เริ่มตกผลึก เมื่อเราเริ่มเป่าลมเข้าไปลูกโป่งก็จะค่อย ๆ พองตัวขึ้นมา ซึ่งลักษณะนี้กจะคล้ายกับลักษณะการเกิดแร่แคลไซต์แบบป๊อปคอร์น
ข้อปฏิบัติในการเที่ยวถ้ำ
การเที่ยวถ้ำเป็นกิจกรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งสร้างความตื่นเต้นให้แก่ผู้ที่ได้เข้าไปสัมผัสอย่างมาก ความมืดและบรรยากาศอันสงบเงียบและวังเวงจะท้าทายความกล้าของนักเดินทางทุกคน โดยมีความงดงามที่ธรรมชาติได้บรรจงสร้างไว้ในถ้ำเป็นรางวัลไม่ว่าจะเป็น หินงอก หินย้อย เสาหิน ม่านน้ำตก และไข่มุกถ้ำ การเที่ยวถ้ำยังทำให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับธรณีวิทยาและปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ทำให้เกิดรูปลักษณ์ต่าง ๆ ขึ้นในถ้ำ รวมทั้งยังมีประวัติศาสตร์ให้ค้นหาจากภาพเขียนสีและหลักฐานอื่น ๆ ที่หลงเหลืออยู่ภายในถ้ำ
อุปกรณ์และการเตรียมตัว
- เสื้อผ้าที่สวมใส่ต้องรัดกุม (เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว) และไม่อมน้ำ
- ถุงมือ สนับเข่า และสนับแข้ง เนื่องจากภายในถ้ำส่วนใหญ่จะเป็นหินปูนที่แหลมคม โดยเฉพาะถ้ำที่มีการปีนป่าย ว่ายน้ำ
- รองเท้าหุ้มส้นหรือหุ้มข้อที่ไม่อมน้ำ และมีดอกยางพอที่จะเกาะพื้นไม่ให้ลื่นล้มได้ง่ายๆ แต่ไม่ใช่รองเท้าแตะที่มีสายรัดสั้น
- หมวกกันกระแทกหรือที่เรียกว่า “หมวกกันน็อก” พร้อมไฟฉายติดหมวกหรือจะใช้ไฟฉายคาดศีรษะแทนก็ได้ ที่สำคัญควรมีอะไหล่หลอดไฟฉายและถ่านไฟฉายสำรองติดตัวไปด้วย
- ไฟฉายขนาดพอเหมาะที่ไม่ใหญ่หรือไม่เล็กจนเกินไปนัก และควรทำเป็นเชือกคล้องคอเพื่อสะดวกในการใช้งาน ทั้งนี้ควรมีคนละกระบอก และเหตุที่ต้องมีไฟฉายพกพานอกเหนือไปจากไฟฉายติดหมวกหรือไฟฉายคาดศีรษะก็เพื่อการใช้งานที่แตกต่างกันไป ซึ่งควรมีอะไหล่หลอดไฟและถ่านไฟฉายสำรองติดตัวไปด้วยเช่นกัน
- เชือกที่มีความเหนียวแข็งแรงทนทานพอที่จะรับน้ำหนักได้อย่างน้อย 60 – 65 กิโลกรัม และยาวราว 20 – 30 เมตร
- ชุดปฐมพยาบาล และเข็มทิศ
- เทียนไข และไฟแช็ก ซึ่งหากไม่จำเป็นจริง ๆ ก็ไม่ควรใช้ 2 สิ่งนี้ เพราะเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดมลภาวะเป็นพิษภายในถ้ำ รวมทั้งทำให้ออกซิเจนภายในถ้ำลดน้อยลง
- อาหารสำเร็จรูปและน้ำ ควรมีติดตัวไว้เผื่อกรณีเกิดการหลงภายในถ้ำเท่านั้น แต่ไม่ใช่การนำอาหารไปกินภายในถ้ำ
- เป้สะพายหลังขนาดพอเหมาะที่จะใส่อุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อความคล่องตัวขณะเดินทาง แล้วในถ้ำที่มีการลุยน้ำหรือว่ายน้ำควรเป็นเป้ที่กันน้ำได้
สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ถ้ำ
- ห้ามแตะต้องกลุ่มหินต่างๆ ภายในถ้ำ เช่นหินงอก หินย้อย เพรามีไขมันที่เกิดจากเหงื่อของตัวเราจะทำปฏิกิริยากับหินเหล่านี้ จนทำให้มันหยุดการเจริญเติบโตหรือที่เรียกว่า “หินตาย”