เป็นถ้ำหินปูนขนาดใหญ่ หินงอกหินย้อยที่พบภายในถ้ำมีความวิจิตร ตระการตาเป็นอย่างมาก บางบริเวณยังมีน้ำหยดซึ่งก่อให้เกิดหินงอกหินย้อยได้ตลอดทั้งปี นอกจากนี้ผนังถ้ำบางบริเวณยังพบซากดึกดำบรรพ์ของแบคทีเรีย (สโตรมาโตไลท์) และหมึกทะเลโบราณ (นอติลอยด์) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่าหินปูนบริเวณถ้ำภูผาเพชรนี้มีอายุอยู่ในช่วงยุคออร์โดวิเชียน หรือเมื่อประมาณ 450 ล้านปีมาแล้ว และยังพบเศษภาชนะเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งบ่งบอกถึงการเคยเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์
ภายในถ้ำมีเนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ หรือ 20,000 ตารางเมตร มีทางเข้าอยู่บนหน้าผาสูงชันสูงจากพื้นราบเชิงเขาประมาณ 50 เมตร พื้นที่ด้านนอกได้รับการพัฒนาเป็นพื้นที่บริการนักท่องเที่ยว ประกอบด้วยลานจอดรถ ร้านจำหน่ายอาหารและของที่ระลึก ห้องสุขา และอาคารบริการนักท่องเที่ยว รวมถึงพื้นที่ป่าดั้งเดิมที่ยังคงสภาพป่าที่สมบูรณ์ ภายในถ้ำเป็นโถงกว้างใหญ่ประกอบด้วยหินงอก หินย้อย หินปูนฉาน ผลึกแร่แคลไซต์ อ่างน้ำถ้ำ และไข่มุกถ้ำ เป็นต้น ที่มีรูปร่างลักษณะได้รับการตั้งชื่อต่าง ๆ ที่หลากหลาย ด้านลึกสุดมีช่องว่างขนาดใหญ่ให้อากาศและแสงส่องเข้าไปได้ไปกระทบกับพื้นหินทำให้มีสิ่งมีชีวิตจุลชีพสีเขียวเติบโตเป็นผืนพรมบนพื้นหินด้านที่ได้รับกับแสง อีกทั้งยังช่วยให้มีการระบายอากาศอีกด้วย หินปูนของถ้ำนี้เป็นกลุ่มหินทุ่งสงยุคออร์โดวิเชียน นอกจากนี้ยังมีการพบโบราณวัตถุพวกเครื่องปั้นดินเผาและเปลือกหอยทะเล ทำให้ทราบว่าเคยมีมนุษย์โบราณอาศัยถ้ำแห่งนี้เป็นที่อยู่อาศัยมาก่อน
ประติมากรรมในถ้ำภูผาเพชร
หินย้อย (Stalactite)
คือ ตะกอนหินปูนที่จับตัวเป็นแท่งหรือแผ่นย้อยลงมาจากเพดาน โดยเกิดจากน้ำใต้ดินที่มีหินปูนละลายอยู่หยดลงมาจากรอยแตกบนเพดานถ้ำ เมื่อน้ำสูญเสียก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปก็จะทำให้เกิดแร่แคลไซต์เริ่มสะสมตัวทีละน้อย และจะพอกยาวลงมาจากเพดานเรื่อย ๆ โดยปกติมักจะมีลักษณะเป็นหลอดกลวงอยู่ตรงกลางแล้วเกิดการพอกขยายขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดเป็นหินย้อยสวยงามตามจิตนาการของนักท่องเที่ยว
หินงอก (Stalagmite)
คือ ตะกอนหินปูนที่จับตัวเป็นแท่งสูงจากพื้นถ้ำขึ้นไปหาเพดานถ้ำ โดยเกิดจากหยดน้ำที่ไหลออกมาจากหินย้อยหล่นถึงพื้นถ้ำน้ำก็จะเกิดการสูญเสียก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จึงทำให้แร่แคลไซต์สะสมตัว และค่อยๆ สูงขึ้นจากพื้นถ้ำถ้างอกขนาดใหญ่จนไปชนกับหิน เรียกว่าเสาหิน หรือ คอลัมน์
เสาหิน (Column)
คือ ลักษณะของหินที่เป็นแท่งหรือเสายาวจากพื้นถ้ำจรดเพดานถ้ำเกิดจากหินงอกและหินย้อยมาบรรจบกัน ใช้ระยะเวลานานหลายปี ในบ้างประเทศมีเสาหินขนาดใหญ่มากจึงต้องทำประกันสำหรับบริหารจัดการท่องเที่ยวเพื่อไม่ให้ทำลายเสาหิน
หลอดหินย้อย (Soda Straw)
เกิดจากสารหินปูนที่จับตัวเป็นหลอดหรือท่อย้อยลงมาจากเพดานถ้ำ การสะสมของแร่แคลไซต์จะมีการเรียงตัวของผลึกในแนวยาวและย้อยลงมา ทำให้มีความยาวเพิ่มขึ้น ดูคล้ายหลอดกลวงที่มีน้ำหยดออกมาสวยๆ ในช่วงนี้ไม่ควรจับเพราะ ความมันบนมือก็จะทำให้ หินงอก หินย้อย หลอดกาแฟ และอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในถ้ำเสียหาย และไม่งอกหรือย้อยใหม่อีก แม้เพียงปลายนิ้วสัมผัส หรือที่เรียกกันว่า หินตาย เมื่อมีการจับหรือสัมผัสมาก ๆ ถ้ำที่สวยงามก็จะกลายเป็นถ้ำตายในที่สุด
ม่านหินย้อย (Curtain)
เกิดจากน้ำที่มีสารคาร์บอเนตสูงไหลตามผนังที่เอียง ซึ่งจะเกิดจากแรงตึงผิวของน้ำ เมื่อน้ำเกิดสูญเสียก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จึงทำให้เกิดการตกตะกอนของแร่แคลไซต์มีลักษณะเป็นแผ่นบาง ๆ ย้อยลงมาจากผนังถ้ำดูคล้ายม่าน บางแห่งจะมีสีน้ำตาลแดงสลับกับขาวหรือเหลืองอ่อน หรือที่เรียกเฉพาะว่า ม่านเบคอน (Bacon Formation) หรือบางแห่งมีลักษณะกลมรีคล้ายลูกชิ้นรักบี้ ม่านหินย้อยเป็นหินประดับถ้ำที่พบได้ทั่วไป มักพบบริเวณส่วนปลายของหินน้ำไหล
หินน้ำไหล (Flowstone)
เกิดจากตะกอนที่น้ำที่มีสารคาร์บอเนตไหลเป็นแผ่นบาง ๆ บนพื้นผิวของพื้นถ้ำ ซึ่งมักจะประกอบไปด้วยแร่ทราเวอร์ทีน (Travertine) หรืออีกรูปหนึ่งของแร่แคลไซต์
ไข่มุกถ้ำ(Cave Pearl) คือ ตะกอนที่มีลักษณะกลม หรือค่อนข้างกลม มีผิวภายนอกเรียบคล้ายไข่มุที่เกิดจากน้ำหยด มักเกิดบริเวณพื้นถ้ำที่เป็นแอ่งตื้น การเกิดนั้นจะต้องมีแกนกลาง (nucleus) ซึ่งอาจเป็นเม็ดทรายหรือเศษหินเล็ก ๆ แล้วเกิดการพอกของแร่แคลไซต์เป็นชั้น ๆ โดยรอบ (concentric layers) ที่มีขนาดตั้งแต่หัวเข็มหมุดถึงขนาดใหญ่ ประมาณ 15 เซนติเมตร บางแห่งมีรูปร่างคล้ายน้อยหน่า
ทำนบหินปูน (Rimstone)
คือ ตะกอนปูนที่ก่อตัวขึ้นแล้วมีลักษณะคล้ายเขื่อน หรือทำนบ หรือขั้นบันไดที่กั้นน้ำไว้ เกิดในบริเวณพื้นถ้ำหรือตามแนวทางน้ำไหล เมื่อน้ำไหลจะทิ้งตะกอนหินปูนเพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ
ปะการัง (Coral)
คือ แร่แคลไซต์ที่มีลักษณะคล้ายปะการัง ส่วนใหญ่จะพบบริเวณถ้ำที่มีความชื้น
ป๊อปคอร์น (Popcorn)
คือ แร่แคลไซต์ที่มีลักษณะคล้ายป๊อปคอร์นหรือข้าวโพดคั่ว ส่วนใหญ่จะพบบริเวณผนังถ้ำที่มีความแห้ง เกิดจากในช่วงเวลาที่แร่แคลไซต์เริ่มตกผลึกมีการดันตัวของก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ออกมาด้วย ทำให้ลักษณะการตกผลึกของแร่แคลไซต์พอง ๆ คล้ายกับขนมป๊อปคอร์น
ในถ้ำภูผาเพชรมีซากดึกดำบรรพ์ที่สำคัญมาก คือ นอติลอยด์ (Nautiloid) หรือหมึกทะเลโบราณ โดยชั้นหินปูนภายในถ้ำมีอายุประมาณ 495 ล้านปีก่อน (ที่มาข้อมูล : กรมทรัพยากรธรณี )
ป้ายที่ 3 ข้อปฏิบัติในการคุ้มครองถ้ำ 16 ข้อ
- ห้ามสัมผัสหรือแตะต้องประติมากรรมถ้ำ เช่น หินงอก หินย้อยเสาหิน รวมทั้งหยดน้ำที่หยดจากหินย้อย
- ห้ามตี เคาะ ทำลายหินในถ้ำ
- ห้ามสูบบุหรี่ ก่อกองไฟ จุดธูปเทียน หรือกิจกรรมใด ๆ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสภาพอากาศภายใน
ถ้ำ
- ห้ามนำอาหารเข้าไปรับประทานในถ้ำรวมทั้งทิ้งเศษขยะมูลฝอยใด ๆ
- ห้ามส่งเสียงดังหรือกระทำการใด ๆ ที่เป็นการรบกวนหรือก่อความรำคาญให้แก่สัตว์รวมทั้งห้ามยิงปืนจุด
ประทัดและ วัตถุระเบิด
- ห้ามนำสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์พาหนะเข้าไปในถ้ำ ห้ามขีดเขียน ขูดลบ ขีดฆ่า ทาหรือ พ้นสี หรือปิดประกาศ
- ห้ามถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะในถ้ำ
- ห้ามเก็บหรือนำสิ่งใด ๆ ออกจากถ้ำ อาทิ หิน ผลึกแร่ ซากดึกดำบรรพ์ โบราณวัตถุหรือสิ่งมีชีวิตภายในถ้ำ
10.ห้ามกระทำการใด ๆ อันจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางน้ำหรือสร้างสิ่งกีดขวางทางน้ำที่จะทำให้น้ำท่วมล้น หรือเหือดแห้ง เว้นแต่ได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่
- ห้ามตั้งแคมป์พักแรมภายในถ้ำ
- ห้ามเดินออกนอกเส้นทางที่กำหนด
- ไม่แตะต้องและ/หรือทำลายระบบไฟฟ้าในถ้ำ
- ไม่รบกวนแหล่งโบราณคดีหรือซากดึกดำบรรพ์ที่พบในถ้ำ
- ไม่ก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น สะพาน ทางเดิน บันได เว้นแต่การก่อสร้างเพื่ออำนวยความ
สะดวก/ความปลอดภัยเท้าที่จำเป็น และให้มีความกลมกลืนกับสภาพธรรมชาติในถ้ำ
- ให้มีผู้นำเที่ยวถ้ำท้องถิ่นที่ผ่านการฝึกอบรมตามมาตรฐาน Local Cave Guide และปฏิบัติตามคำแนะนำ
อย่างเคร่งครัด (ที่มาข้อมูล : คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการถ้ำแห่งชาติ กรมทรัพยากรธรณี)